Nov
04
2012
หยุดก่อน
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 4 พฤศจิกายน 2555
ข้อความบนหน้าจอที่รุ่นน้องคนหนึ่งเขียนไว้ในเฟซบุ๊ค หรือที่คนร่วมสมัยปัจจุบันเรียกทับศัพท์กันว่า อัพสเตตัส นั้น ชวนให้ระลึกถึงเครื่องมือพื้นฐานที่สุดอย่างหนึ่งของการเรียนรู้ที่เหมือนจะธรรมดา ทว่าทรงพลังมากนัก
เขาว่า ระหว่างที่นั่งทำงาน พลันได้สังเกตเห็นแสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านช่องหน้าต่างมาเป็นทาง ตกกระทบสะท้อนเห็นทิศการเดินทางของแสง ในฐานะที่เขาเป็นนักชีววิทยา 'ปรากฏการณ์การเลี้ยวเบนของแสงผ่านช่องเดี่ยว' นี้มันกระตุกใจให้เขาได้นึกย้อนไปตั้งแต่สมัยปริญญาตรีจวบจนมัธยมศึกษา นึกถึงช่วงเวลาที่เคยพบวิชาฟิสิกส์ ความสนุกสนานของบทเรียน และความทรงจำมากมายที่มีต่อครูบาอาจารย์ผู้ประสาท เขาถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกมาบนหน้าจอคอมพิวเตอร์พร้อมเขียนชื่อครูทีละท่าน ย้อนระลึกถึงครูทุกๆ คน
บางครั้งเราอาจเรียกการกระทำทำนองนี้ว่าฟุ้งซ่าน แต่เรามักจะลืมหรืออาจจะมองข้ามด้วยซ้ำว่า ทุกโอกาสของการได้หวนระลึกถึงคุณค่าของประสบการณ์บทเรียนใดๆ และประตูสู่บทเรียนนี้คือ 'การสังเกต' อันเป็นเครื่องมือพื้นฐานของการเรียนรู้ในจิตตปัญญา ที่บางครั้งถึงกับถูกเรียกขับเน้นให้เป็นพิเศษถึงความสำคัญและทรงพลังว่า “สังเกต สังเกต สังเกต” เพราะมันไม่ใช่เพียงการมองเห็น ได้ยิน รับรู้ และตีความไปตามความเข้าใจเดิม ทึกทักตัดสินไปตามความคุ้นเคยเดิมๆ แต่ให้การรับรู้นั้นนำไปสู่การใคร่ครวญโดยไม่ด่วนตัดสิน
การเริ่มต้นสู่บทเรียนของการทบทวนตัวเองจึงจำต้องกระตุกผู้เรียนให้หันกลับมาหัดสังเกต และสิ่งที่ต้องสังเกตนั้นก็มิใช่อะไรอื่นไกล มันคือทุกสิ่งรอบตัว ให้สังเกตปรากฏการณ์ที่เป็นไปในชีวิตเรา พร้อมกับเพิ่มการสังเกตใจตัวเองไปพร้อมกัน ฟังเสียงความคิดของตัวเองและเท่าทันกับความเชื่อความคุ้นเคยเดิมๆ
การสังเกตเพื่อเข้าให้ถึงใจและเชื่อมโยงไปสู่โลกนั้นจำต้องมีสมดุล และมันจะเกิดขึ้นได้ด้วยการหมั่นฝึกฝนเป็นประจำ จนเท่าทันออกจากร่องพฤติกรรมความคิดเดิมๆ
ความเร่งในการใช้ชีวิตด้วยอัตราเร็วดังในปัจจุบันจึงเป็นกำแพงอันหนาหนัก เป็นด่านแรกที่เราต้องฝ่าทะลุไป เราชินกับการตัดสินใจเร็ว คุ้นกับความฉับไว เชื่อมั่นว่าประสิทธิภาพคือการใช้เวลาน้อย เชื่อมั่นว่าอะไรที่ดีต้องเป็นสิ่งที่ทันใจ ยิ่งเราเชื่อว่าที่เราเป็นอยู่ ที่เราคิดอยู่แบบนี้ คือวิถีที่ใช่ คือเส้นทางเดียวที่ควรจะดำเนินไปสำหรับการเรียนแล้ว กำแพงนี้ก็จะยิ่งหนายิ่งสูงเท่านั้น
การสังเกตนี้อาจเหมือนว่าจะกินเวลา ต้องเฝ้าดู ต้องฟังอย่างตั้งใจ แต่มันเป็นเครื่องมืออันวิเศษที่ทำให้เราใช้เวลาน้อยลงเรื่อยๆ ในการเท่าทันจิตใจตัวเอง ในชั่วชีวิตหนึ่งนั้นมีบทเรียนหลายสิ่ง ประสบการณ์หลายอย่าง ผ่านมาแล้วผ่านเลยไป เพียงเพราะเราพลาดไม่ได้หยิบฉวยขึ้นมาขัดเกลาให้เห็นแง่มุมใหม่ของชีวิต ไม่ได้นำมาส่องสะท้อนให้ตระหนักรู้และเข้าใจในความคิดและการกระทำของตัวเอง
การสังเกตที่พาไปสู่การคิดใคร่ครวญ เคยทำให้นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยพบความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ แอปเปิ้ลที่ร่วงตกพื้นผลนั้นคงเป็นเพียงผลไม้ลูกหนึ่ง ถ้ามิใช่เพราะนิวตันได้สังเกต น้ำที่เอ่อล้นอ่างคงเป็นแค่การอาบน้ำ ถ้ามิใช่เพราะอาร์คีมิดีสทันสังเกต
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือโชคช่วย แต่มาจากการฝึกฝนและเอาใจใส่ในการใช้เครื่องมือพื้นฐานจนกลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังสำหรับการเรียนรู้ ไม่ว่าจะวิทยาศาสตร์ หรือว่าจิตตปัญญาศึกษา จะเข้าใจโลกภายนอกหรือน้อมเข้าสู่ภายใน ล้วนมาจากฐานที่เราทุกคนเริ่มได้เหมือนกัน
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
?
Knoom :
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
Labels
- กาย-ใจ (48)
- จิตตปัญญา (43)
- จิตตปัญญาศึกษา (20)
- reflection (9)
- movie (8)
- สุนทรียสนทนา (6)
- นพลักษณ์ (4)
- book (3)
- การเมือง (3)
- jitcinema (2)
- leadership (2)
- Twitter (1)
- event (1)
- management (1)
- story (1)
0 comments:
Post a Comment