เหนือความเคารพ



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 22 เมษายน 2555

ในวงพูดคุยกันอย่างเปิดเผยระหว่างอาจารย์และนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เราสนทนากันถึงสภาพการเรียนการสอนในปัจจุบันที่นักศึกษาถูกกดดันให้เรียนเยอะๆ มีเนื้อหามาก มีรายงานให้ทำมาก อีกทางหนึ่ง อาจารย์ก็ถูกกดดันให้สร้างงานวิจัยได้มากๆ และต้องจัดการกับสารพัดเอกสารกำกับมาตรฐานการสอนที่ให้กรอกกันได้ตลอดทั้งปี

แต่ที่นี่ เราไม่ได้มาบ่น ระบาย หรือถอดใจกับระบบการศึกษา เรากำลังช่วยกันค้นหาว่าจะทำให้ชั้นเรียนมีความสุข และเป็นการเรียนรู้ที่ดี ทั้งกับนักศึกษาผู้เรียน และอาจารย์ผู้สอนได้อย่างไร

มีคำถามน่าสนใจไม่น้อยออกมาจากเพื่อนอาจารย์ที่ร่วมวง บางคำถามเกี่ยวกับการจัดการเวลา เช่น “จะสอนให้สนุกและทันตามเวลาที่กำหนดได้อย่างไร ในเมื่อมีเนื้อหาเยอะมาก”, “นักศึกษามาสาย ควรจะทำอย่างไรดี” และ “จะพัฒนาทักษะการสอนแบบ Team Teaching ได้อย่างไร” แต่มีคำถามหนึ่งซึ่งสะกิดใจพวกเราทุกคนคือ “ทำอย่างไรนักศึกษาถึงจะมี Respect ต่ออาจารย์”

น่าสนใจ! เราต่างสบตากัน หลายคนคิดไปถึงเรื่องของท่าที สีหน้า การพูดจา ความแตกต่างระหว่างวัย การแสดงพฤติกรรมที่มีความคาดหวังต่างกัน เหมือนจะเป็นเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่ว่านักศึกษาในรุ่นหลังๆ มานี้มีท่าทีพฤติกรรมผิดแผกไปจากเดิมมาก จะว่าอ่อนโยนนอบน้อมน้อยลงก็ว่าได้

ผู้ดำเนินการสนทนาหันไปทางนักศึกษาหญิงชายสี่ห้าชีวิตในวงสนทนา ถามพวกเขาว่า ได้ยินคำถามนี้แล้วมีอะไรอยากจะตอบหรือบอกอาจารย์ไหม? ปรากฏว่านักศึกษาก็ไม่รีรอที่จะเอ่ยปากพูด เพียงยังไม่ตอบ แต่กลับจะขอถามอาจารย์ก่อนว่า เห็นนักศึกษาไม่เคารพนั้น เป็นอาการหรือกริยาแบบไหน อยากให้อาจารย์ยกตัวอย่าง เพราะตนเองเชื่อว่าโดยพื้นฐานแล้วพวกเรารักและเคารพอาจารย์ทุกคนเสมอ ถึงตรงนี้ทุกคนยังคิดว่าเป็นเรื่องท่าทีในการแสดงออก

อาจารย์คนหนึ่งยกมือขอตอบ พร้อมเฉลยว่าตนเป็นเจ้าของคำถาม และอยากอธิบายให้ชัดเจนถึงคำว่า Respect ที่เราเปลี่ยนมาใช้คำว่า “เคารพกัน” นั้น เธอไม่ได้นึกถึงเรื่องของการไหว้ หรือการแสดงคำทักทายอย่างนอบน้อมต่ออาจารย์ สิ่งที่เธอนึกถึงจริงๆ คือ การทำงานของนักศึกษา การที่ส่งรายงานมาให้แล้วเต็มไปด้วยคำสะกดผิด การใช้อีเมลส่งงานให้อาจารย์ แต่ไม่มีคำขึ้นต้นลงท้าย ยิ่งกว่านั้นบางรายส่งอีเมลโดยแนบมาแต่ไฟล์มา ไม่เขียนข้อความใดๆ มาในเมลนั้นเลย

ทุกคนในวงทั้งเพื่อนอาจารย์และลูกศิษย์เมื่อได้ยินแล้วต่างก็นิ่งไป เพราะความหมายของคำว่าเคารพในที่นี้ ไม่ใช่แค่มารยาทการแสดงออกทางสังคมแล้ว แต่เป็นเรื่องการมีความประณีตและเอาใจใส่พิถีพิถันในรายละเอียดของการกระทำของตนเอง สิ่งที่เรารักและตั้งใจ เรายิ่งต้องใส่ใจทำให้ดี ไม่ใช่สักแต่ว่าทำใช่ไหม กรณีที่นักศึกษาทำงานแบบนี้มาส่งหมายถึงเขาไม่เคารพอาจารย์หรือเปล่า?

ยิ่งเราแต่ละคนถามตัวเองกลับ ยิ่งทำให้เราได้คำตอบร่วมกันว่า นั่นไม่ใช่ใช่เพียงแค่การเคารพกัน ไม่ใช่แค่การเคารพอาจารย์ แต่มันเป็นการแสดงถึงความเคารพในตนเอง การให้เกียรติกับผลงานของตัวเอง เป็นความภาคภูมิใจในผลงานของตน และเป็นความพิถีพิถันในการใช้ชีวิต

การคุยเรื่องนี้ ได้เผยให้เราเห็นความรักและความงามในการเรียน ทำให้นักศึกษาได้เห็นว่าเขาไม่ได้ถูกสอนแค่เนื้อหาวิชา แต่อาจารย์ยังพยายามสอนให้เขาเชื่อมั่นและเคารพนับถือในตัวเอง สอนให้เขาประณีตใส่ใจในชีวิต หากเรามองอย่างด่วนตัดสินกันโดยผิวเผิน ก็จะเห็นแค่วิธีการที่ต่างกันของคนต่างวัย มองข้ามความหมายที่แท้จริงไปอย่างง่ายดาย และน่าเสียดาย

0 comments:

Post a Comment