ถูกตั้งคำถาม



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 4 มีนาคม 2555

หลายปีมาแล้ว ตอนนั้นยังเป็นช่วงแรกๆ ที่บรรดาองค์กรธุรกิจหันมาสนใจจิตตปัญญาศึกษา ในฐานะแนวทางการฝึกอบรมใหม่ให้แก่บุคลากรของบริษัท เพื่อนผม ซึ่งเป็นกระบวนกร มีเรื่องเล่าว่า พอถึงช่วงบ่าย ผู้เข้าอบรมที่ทยอยเดินกลับเข้ามาในห้องต่างพากันชะงักอีกรอบ จากรอบแรกตอนเช้าก็งงๆ แล้วเพราะเห็นว่าต้องนั่งกับพื้นบนเบาะที่เรียงเป็นวงกลม ช่วงบ่ายเบาะถูกจัดวางใหม่ ให้เป็นแถวเป็นแนวยาวสามสี่แถว ไฟในห้องก็ถูกหรี่ลงเหลือเพียงแสงสลัว ยิ่งกว่านั้น กระบวนกรยังบอกให้เลือกเบาะแล้วนอนหงาย ปล่อยแขนวางไว้ข้างลำตัว

ถึงตรงนี้หลายเสียงก็ดังแทรกขึ้น “ทำไมต้องนอนด้วย?” หรือ “กิจกรรมที่ให้นอนอย่างนี้มีจุดประสงค์อะไร?” เจอคำถามส่งมาเป็นชุดแบบนี้ ถึงทีกระบวนกรชะงักและอึ้งไป เพราะแต่ไหนแต่ไรไม่เคยมีคำถามเชิงระแวงสงสัย โดยมากให้ทำอะไรก็ทำ เพราะรู้อยู่แล้วว่านี่เป็นการอบรมที่ไม่ใช่สัมมนาวิชาการ เขาบอกว่า ในหัวพลันนึกถึงเพื่อนๆ มากเลยว่าถ้าเป็นคนอื่นๆ จะตอบหรือดูแลผู้เข้าร่วมกลุ่มนี้อย่างไร

เพราะกระบวนการส่วนใหญ่ที่เราออกแบบกันไว้นั้น ไม่ใช่รูปแบบทั่วๆ ไปที่คุ้นเคย เช่น บอกจุดประสงค์และผลที่คาดว่าจะได้ หรือมีข้อสรุปไว้เฉลยให้เสร็จในตอนท้าย แต่กระบวนการนี้จะเน้นให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคนได้มีประสบการณ์แปลกใหม่ และบทเรียนที่เกิดขึ้นจะเป็นการเรียนรู้เฉพาะของแต่ละคน อาจมีประเด็นหลักๆ ที่เห็นร่วมกันแน่นอน แต่ความเป็นมาของคนต่างกันย่อมจะทำให้เขาพบบทเรียนที่ผิดแผกกัน ด้วยเหตุนี้ พวกเราที่ฟังเรื่องเล่าแล้วก็พอเข้าใจได้ถึงสถานการณ์ลำบากใจของเพื่อน

พวกเราพากันสนทนาหาดูว่าเหตุการณ์นี้บอกอะไรเราบ้าง ก็พบว่า เดิมนั้นผู้เข้าร่วมมักมาจากแวดวงการศึกษา หรือเป็นคนที่มีความสนใจจะเรียนในแนวทางใหม่ๆ แต่ครั้งนี้ ทุกคนเป็นพนักงานบริษัท แถมเป็นบริษัทใหญ่ติดอันดับหนึ่งในสิบของประเทศ ตัวพนักงานที่มาก็เป็นระดับผู้บริหารรุ่นกลาง เป็นคนรุ่นใหม่ที่หัวดี และทำงานหนัก จะว่าไปก็ไม่น่าแปลกใจที่เขาจะมีปฏิกิริยาต่อต้านเล็กๆ ผ่านการตั้งคำถาม และดูเหมือนจะไม่ยอมทำตาม ถ้าไม่รู้ว่าจะถูกมอบหมายให้ทำอะไรกันแน่

การอบรมครั้งนี้จึงกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ให้บทเรียนแก่กระบวนกรได้มากเช่นเดียวกัน เพราะความเชื่อพื้นฐานในกระบวนการของเราคือ กิจกรรมต้องสามารถพาผู้เข้าร่วมไปพบประสบการณ์ที่ไม่คุ้นเคย ให้เขาทำอะไรไปพ้นจากพฤติกรรมเคยชินเดิมๆ เพื่อเปิดมุมมองการเรียนรู้ใหม่ อะไรที่รู้อยู่แล้วว่าจะต้องดำเนินไปอย่างไรและได้ผลลัพธ์อะไรนั้น ไม่ใช่การเรียนที่จะช่วยให้รู้จักเข้าใจตนเองได้มากนัก

ฉะนั้นแล้ว การที่ได้พบกับผู้เข้าร่วมที่ตั้งคำถามกลับ และปฏิเสธที่จะทำตาม ถ้าไม่รู้แน่ชัดว่าจะทำไปเพื่ออะไร ก็ย่อมจะเป็นการเรียนรู้ในทำนองเดียวกัน เป็นโอกาสที่พาให้กระบวนกรออกสู่บรรยากาศที่ไม่คุ้นเคย ให้ได้เห็นว่าไม่มีวิธีการหนึ่งเดียวที่ใช้ได้ผลกับคนทุกกลุ่ม การได้จัดอบรมแนวจิตตปัญญาศึกษาให้แก่องค์กรธุรกิจจึงได้สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของการออกแบบกิจกรรมเพื่อเรียนรู้ตนเองขึ้นมาอีกมากมาย แทนที่กระบวนกรจะบังคับขอให้ทุกคนทำตามวิธีการของตน

การได้ตั้งคำถามต่อตัวเองว่า “เราใช้กิจกรรมรูปแบบเดิม จนเคยชิน และพลาดประสบการณ์การเรียนรู้อะไรหรือไปหรือเปล่า?” จึงเป็นการเรียนรู้ที่แท้จริง เราอาจจัดกิจกรรมและชักชวนให้คนอื่นเรียนรู้ได้ แต่เราก็ต้องกล้าตั้งคำถามกับความเคยชินเดิมๆ และไม่มองข้ามโอกาสการเรียนรู้ของตนเองด้วยเช่นกัน

0 comments:

Post a Comment