ทำไมไม่ย้าย ?



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 13 พฤศจิกายน 2554

ถึงตอนนี้คงเจอกับอุทกภัยกันไปถ้วนหน้า คนที่เจอหนักถึงขั้นต้องทิ้งบ้าน คงยืนยันได้ว่าการเตรียมตัวเก็บของ หรือหาที่อยู่ใหม่ แม้จะเป็นภารกิจยุ่งยาก แต่ก็ยังพอจัดการได้ โดยเฉพาะถ้ามีเวลาพอรับมือ แต่เรื่องยากมากยิ่งกว่าหรืออาจจะยากที่สุด คือการขอให้ผู้ใหญ่ในบ้านยอมย้ายออกไปด้วยกัน

ผู้ใหญ่เหล่านี้สำหรับเราก็อาจเป็นได้ทั้งปู่ย่าตายาย คุณพ่อคุณแม่ คุณลุงคุณป้า บ้างอายุมากแล้ว บางท่านสุขภาพโดยรวมไม่ใคร่จะดีเป็นทุนเดิมด้วยซ้ำ ดูเผินๆ ท่านน่าจะยอมขยับขยายตามเราลูกหลานไปง่ายๆ แต่ทำไมมีหลายกรณีมากทั้งที่ปรากฏเป็นข่าวว่าผู้สูงอายุจำนวนมากไม่ยอมอพยพโยกย้าย บางกรณีลูกๆ ให้สัมภาษณ์ทั้งน้ำตาว่าขอให้แม่ย้ายออกมาแต่เนิ่นๆ ก่อนน้ำจะมา แต่แม่ก็ยืนกรานไม่ยอม จนสถานการณ์เจียนตัว ต้องรอหน่วยกู้ภัยมาช่วยออกไปด้วยเรือ

ใน Facebook ก็คุยเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง หลายคนตกอยู่ในภาวะเดียวกัน คือ ต้องขอร้องผู้ใหญ่ในบ้านให้ท่านยอมย้ายไปด้วย เรื่องนี้เป็นประเด็นจนถึงได้ตั้งหัวเรื่องคุยกันเลย ว่ามาแลกเปลี่ยนวิธีการกันเถอะ ใครใช้แนวทางไหน กลวิธีใด ในการชักจูงให้ท่านเหล่านั้นเห็นว่าปัญหามันร้ายแรงจริงๆ และจะต้องย้ายออกในทันที

หลายวิธีที่เสนอกันไว้ก็น่าสนใจมาก ทั้งการค่อยๆ อธิบายอย่างใจเย็น ทั้งการหาคนที่น่าเชื่อถือให้โทรมาเกลี้ยกล่อม แต่บางวิธีก็ค่อนข้างจะแรง เช่น ขู่ว่าถ้าตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุดจะเป็นยังไง เรียกง่ายๆ ว่าขู่ให้ท่านกลัวจะได้ยอม บางวิธีก็น่าสนใจเพราะใช้ไม้อ่อนและลูกอ้อนเข้ารับมือ ให้กอดท่านแน่นๆ และก้มกราบ ขอร้องว่าให้ยอมตามการตัดสินใจของเราบ้าง จนกระทั่งถึงกับมีคำแนะนำจากจิตแพทย์ว่าด้วยวิธีการชักจูงใจผู้สูงอายุ ซึ่งก็ได้รับการส่งต่อใน facebook อย่างแพร่หลาย

จิตตปัญญาศึกษาถือว่านี่เป็นเรื่องของการสื่อสารและความเข้าใจกัน ไม่ว่าจะเป็น สุนทรียสนทนา (Dialogue) ซึ่งเน้นเรื่องการเปิดโอกาสการรับฟังกันอย่างลึกซึ้ง หรือการสื่อสารอย่างสันติ (Non-Violent Communication) ซึ่งทำให้เราตระหนักว่า ทุกคนก็มีความต้องการความปลอดภัย ความรัก และความเข้าใจเหมือนเรา เพียงแต่ผู้ใหญ่ท่านจะมีวิธีการในการแสดงออกแตกต่างจากเราเท่านั้น เราต้องบอกความรู้สึกในใจ และบอกความต้องการที่แท้จริงที่ไม่ใช่แค่วิธีการออกไป เพราะโดยมากเรามักจะขอให้ท่านทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ ซึ่งนั่นเป็นวิธีการแก้ปัญหาจากมุมมองและวิธีของเราอย่างเดียว ไม่ใช่ของผู้ใหญ่ที่เรารักและห่วงใย

วิธีแนวจิตตปัญญาไม่ใช่การมุ่งเอาชนะ และมิได้เป็นเครื่องมือสำหรับเราผู้เหนือกว่ารู้ดีกว่า ถ้าหากว่าปัญหาเฉพาะหน้าตรงนี้คือการย้ายหนีน้ำไปหาที่ปลอดภัย สิ่งที่จิตตปัญญาศึกษาจะให้ได้คือโอกาสของการทบทวนว่า เราได้ละเลยหลงลืมอะไรที่สำคัญยิ่งไปกว่าการหนีน้ำบ้างไหม เราได้ดูแลจิตใจและจิตวิญญาณของคนอันเป็นที่รักของเราหรือยัง ท่านให้คุณค่ากับบ้านอันเป็นสถานที่แห่งความทรงจำ หรือว่ามันมีความสัมพันธ์อะไรที่แตกหักมานาน และไม่เคยได้รับการเยียวยา ก่อนจะมาถึงเรื่องวันนี้หรือเปล่า?

คำตอบของเรื่องอาจไม่ใช่ทำอย่างไรจะให้เขาย้าย แต่อาจเป็นโอกาสของการเผยถึงความรักความห่วงใย โอกาสของการให้อภัย และยอมรับในการตัดสินใจของกันและกัน สำหรับจิตตปัญญาศึกษานั้น การอยู่ร่วมกันอย่างมีความหมาย และการเข้าใจในตัวเราเอง เป็นหัวใจสำคัญยิ่งกว่าการจัดการควบคุมให้ทุกอย่างได้ตามใจเรา

0 comments:

Post a Comment