ใช่แค่ความต่าง



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 30 ตุลาคม 2554

ชุดความรู้กลุ่มหนึ่งในแนวจิตตปัญญาศึกษาที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมการอบรมอยู่เสมอ คือเรื่องลักษณะของคนต่างแบบ และการให้คำอธิบายจัดแบ่งคนออกเป็นกลุ่ม ซึ่งมีอุปนิสัย พฤติกรรม และความคิด แตกต่างกัน ได้แก่ ความรู้เรื่องนพลักษณ์ อันเป็นศาสตร์ที่พัฒนามาจากภูมิความรู้เก่าแก่ในศาสนาอิสลามนิกายซูฟี และความรู้เรื่องสัตว์ 4 ทิศ จากมหาวิทยาลัยนาโรปะที่พัฒนาจากวัฒนธรรมความเชื่อในชนเผ่าอินเดียนแดง

ด้วยรูปแบบของการเรียนรู้ที่มีชุดความรู้ชัดเจน อธิบายถึงลักษณะนิสัยของคนที่ต่างกัน มันชวนให้เราสนใจใคร่รู้ว่า สำหรับตัวเราเองนั้นจะถูกจัดให้เข้าข่ายไหน ยิ่งไปกว่านั้นคือ จะได้รู้ด้วยว่าคนรัก เพื่อน หัวหน้า และสมาชิกในครอบครัว น่าจะเป็นคนแบบไหนกันบ้าง การเรียนรู้จึงมีความกระตือรือร้น ซักถาม และหลายครั้งก็เต็มไปด้วยความสนุกสนานขำๆ เมื่อได้รู้ว่าคนอื่นที่ดูจะคล้ายเรานั้น แท้จริงเขาอาจคิดหรือทำอะไรที่เกินความคาดหมายของเราได้มากเหลือเกิน

ในช่วงเวลาของการเรียนรู้ คนส่วนใหญ่จะดิ่งจมสนใจอยู่แต่ว่าตนเองเป็นคนประเภทไหน มีพื้นฐานลักษณะอะไร พร้อมไปกับเทียบเคียงถึงคนรู้จักใกล้ตัว ตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันและกัน รวมทั้งยกตัวอย่างคำพูด หรือสถานการณ์ในอดีตขึ้นมาประกอบ เป็นช่วงเวลาที่เพลิดเพลินสนุกสนานกับการเรียนรู้ แต่ในทางกลับกัน มันอาจจะกลายเป็นช่วงแห่งความหลง จมลึกลงในหลุมพรางความเข้าใจที่เรามีต่อตัวเอง และเผลอไผลไหลไปตามร่องความคิดความเชื่อเดิมๆ ของเราโดยไม่รู้ตัว

กระบวนการเรียนรู้แนวจิตตปัญญาจึงต้องกระตุ้นเตือนทุกคนอยู่ตลอดเวลา ให้ตระหนักถึงหลุมพรางและร่องซึ่งมีอยู่ภายในตัวเรา หาไม่แล้วการศึกษาเรื่องนพลักษณ์ และสัตว์ 4 ทิศ จะให้ผลลัพธ์ได้เพียงเท่ากับการดูดวงตามวันเกิด หรือตื้นเขินเพียงแค่ทำนายนิสัยง่ายๆ จากแบบสอบถาม คุณค่าแท้ของความรู้จะถูกละเลยมองข้าม เราจึงไม่เห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะทึกทักเข้าใจไปเองว่า ชุดความรู้นี้แหละที่จะทำให้คนอื่นต้องพยายามเข้าใจและยอมรับเรา หรือมิเช่นนั้น ก็กลับพาลเสียใจว่าเป็นเพราะกำเนิดมาเป็นคนแบบนี้แล้ว ชะรอยคงจะต้องก้มหน้ายอมรับชะตา ไม่สามารถจะไปเป็นคนแบบอื่นอีกได้

การสังเกตและทบทวนตนเองเพื่อให้เห็นว่าเรานั้นเป็นคนลักษณ์ไหนใน 9 แบบของนพลักษณ์ หรือมีนิสัยแบบสัตว์ 4 ทิศอะไร คือการเปิดโอกาสให้เราได้เท่าทัน มองเห็นหลุมพรางและร่องของตัวเราเอง เสมือนได้ชิมลองการละวางอัตตาตัวตนลง หันกลับมามองตัวเองด้วยมุมมองใหม่ ไม่ใช่เพื่อให้ชื่นชมหรือสมเพช แต่ให้ได้พบว่าเรามีความสามารถที่จะเป็นได้มากกว่าเดิม และเป็นคนที่แตกต่างจากเดิม เพื่อให้ได้รู้ว่าอะไรเป็นอุปสรรคขัดขวาง อะไรคือกิเลสครอบงำ ที่ทำให้เราไม่ได้เข้าถึงศักยภาพที่แท้ภายใน ศักยภาพที่เปิดความเป็นไปได้ของการเติบใหญ่ทางจิตวิญญาณ

ลำเพียงเนื้อหาอธิบายลักษณะของคน โดยไร้ความเข้าใจและไม่ได้ใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งในตนเอง ย่อมไม่อาจทำให้เราเข้าถึงแก่นแท้ของการเรียนรู้ แค่จดจำรำลึกได้ถึงรูปแบบนิสัยและพฤติกรรมต่างๆ อาจเป็นได้แค่ทักษะวิธีการบริหารงานบุคคล ทั้งอาจเป็นเหตุผลข้ออ้างตามใจตน ใช้เพ่งโทษคนอื่น และแบ่งเขาแบ่งเรา

ความรู้จิตตปัญญาว่าด้วยคนต่างแบบ คือการเข้าถึงความรู้ที่อยู่ในตัวเรา ได้ให้เวลาพินิจพิจารณาสะท้อนตนเอง เห็นหลุมและร่องเก่าที่กักขังตัวเราไว้ ฝึกฝนสติเพื่อให้รู้เท่าทันใจ และได้พบศักยภาพที่เราจะเป็นได้มากกว่าเคย

0 comments:

Post a Comment