ไม่มีถูก ไม่มีผิด



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 25 กันยายน 2554

การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เป็น “เจ้าของการเรียนรู้”เป็นสิ่งสำคัญมาก มากยิ่งไปกว่าการเตรียมการสอนของอาจารย์ สื่อการเรียน หรือเทคนิคการถ่ายทอด โดยเฉพาะการเรียนรู้เพื่อรู้จักและเข้าใจตัวเองดังเช่นจิตตปัญญาศึกษา

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา ได้จัดการอบรมเรื่องสุนทรียสนทนา (Dialogue) โดยเป็นส่วนหนึ่งของวิชาทักษะชีวิต สำหรับนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1

บทเรียนที่กระบวนกรเปิดขึ้นเป็นสิ่งแรกจึงมิใช่เรื่องประวัติความเป็นมา หรือว่าหลักการพื้นฐานในการสื่อสาร เพราะนักศึกษาทั้งหลายคงคุ้นเคยกับการเรียนตามแบบแผนจนชินชา และคาดเดาในใจไปแล้วว่าต้องมาเรียนอะไรเพื่อเก็บชั่วโมงให้ได้คะแนนผ่านในวิชานี้บ้าง

ทันทีที่ทุกคนเริ่มคุ้นเคยกันจากกิจกรรมสนุกสนานผ่อนคลายและได้รู้จักชื่อเสียงเรียงนามกันแล้ว กระบวนกรก็เริ่มแนะนำว่าในสองวันของการอบรมนี้เราจะเรียนกันอย่างไร แนวคิดสำคัญที่นำมาบอกเล่าเป็นลำดับแรกคือการแนะให้เห็นว่าแต่ละคนมีพื้นที่คุ้นชินที่มักทำอะไรเดิมๆ ซ้ำๆ เป็นประจำโดยอัตโนมัติ ขณะเดียวกันก็มีพื้นที่ท้าทายที่เรามักจะหลีกเลี่ยงเพราะรู้สึกว่ามันอาจจะไม่ปลอดภัย ไม่เคยทำ หรือไม่กล้าทำเพราะกลัวว่าจะผิดพลาด สองวันของการเรียนรู้นี้จึงชี้ชวนให้เราสังเกตตัวเอง และกล้าออกจากความเคยชิน มาลองทำอะไรที่ไม่เคยทำ ไม่กล้าทำ เมื่อใดถูกถามขอให้สบายใจที่จะตอบอะไรก็ได้ “ไม่มีถูก ไม่มีผิด”

สิ่งที่ไม่ได้บอกก็คือ การเรียนตามรูปแบบที่พวกเราต้องพบเจอมาตั้งแต่สมัยประถม มัธยม จนอุดมศึกษานั่นแหละที่ทำให้เราคุ้นเคยและเฉยชาต่อการเรียน กลายมาเป็นพฤติกรรมและความเชื่อของเราว่าต้องท่องจำเนื้อหาและตอบให้ถูกต้องตามที่ถูกสอนมา ถ้าจำผิดหรือตอบพลาดก็อาจถูกตำหนิลงโทษได้

แต่สำหรับการเรียนรู้เพื่อรู้จักและเข้าใจตัวเองนั้นการเรียนโดยทำตามอย่างที่ตำราบอกนั้นไม่ได้ช่วยให้เกิดความเข้าใจใหม่ เราจะได้แต่รู้จักและจดจำเนื้อหาสาระได้ ทว่าไม่อาจทำให้เราในฐานะผู้เรียนเห็นความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างความรู้กับชีวิตของเรา และลงท้ายก็ไม่ได้นำเอาไปใช้จริงในชีวิต

เรียนเพื่อจะจำให้ได้ถูกต้อง ก็ได้แค่รู้จำสาระเนื้อหาเข้าสมอง แต่ว่าความรู้ไม่ได้เข้าไปถึงใจ

สุนทรียสนทนาเป็นทักษะชีวิตพื้นฐานที่เราใช้เพื่อเข้าใจกันและกัน และเพื่อให้เท่าทันความคิดความเชื่อ เพียงการจดจำหลักการและวิธีการได้ แต่ไม่ได้เปิดใจรับสุนทรียสนทนาเข้ามาอยู่ในการใช้ชีวิตของตนเอง ก็เท่ากับว่าเป็นการเรียนรู้ตามคำบอกเล่า หาได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้นี้เองไม่

เมื่อนักศึกษาพยาบาลกล้าที่จะบอกว่าตนเองคิดเห็นอย่างไรต่อกิจกรรม เลือกที่จะเผยว่าเกิดความรู้สึกอะไรขึ้นในใจ ยอมรับว่าเห็นตนเองตกร่องความคิดความเชื่อ หรือเผลอด่วนตัดสินคำพูดของใคร สิ่งเหล่านี้คือการเรียนรู้ที่เขาพาตัวเองออกไปสู่พื้นที่ท้าทาย จนทำให้เนื้อหานั้นเข้าสู่ใจ สัมพันธ์กับชีวิตตน จากเดิมเป็นความเสี่ยงว่าอาจจะตอบไม่ตรงใจผู้สอน กลายเป็นความสดใหม่ของการค้นพบบทเรียนในตัวของเขาเอง

ฉันจะไม่ด่วนตัดสินตอนฟังคนอื่น และจะฟังอย่างลึกซึ้ง มาอบรมคราวนี้ชอบมาก โดยเฉพาะที่บอกว่า จะตอบอะไรก็ได้ ไม่มีถูก ไม่มีผิด” นักศึกษาคนหนึ่งเขียนสะท้อนไว้ เปิดเผยให้เห็นว่าเธอได้ข้ามผ่านความกลัว และได้รับบทเรียนเฉพาะของตัวเอง ที่ไปพ้นกรอบการประเมินค่าคะแนน

เพราะเมื่อกลัวผิดก็เท่ากับปิดโอกาสการเรียนรู้ใจตน

0 comments:

Post a Comment