สื่อสารด้วยใจ



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 12 มิถุนายน 2554

การสื่อสารอย่างสันติ (Nonviolent Communication) เป็นเครื่องมือ หรือการปฏิบัติอย่างหนึ่ง ในแนวทางการเรียนรู้แบบจิตปัญญาศึกษา ปัจจุบันเริ่มได้รับความสนใจและมีผู้ลงมือฝึกฝนอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนไม่น้อย เราอาจเคยผ่านหูผ่านตามาบ้างในช่วงเหตุการณ์วิกฤตความขัดแย้งของบ้านเมืองที่ปรากฏมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง จัดกิจกรรมอาสาเพื่อนรับฟัง เพื่อเปิดใจเข้าไปรับฟังความรู้สึกของทุกผู้คน โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบหรือได้รับความสูญเสียในเหตุการณ์

ลำพังเพียงชื่อของเครื่องมือ ซึ่งมีคำว่าสันติ ผนวกไปกับคำว่าสื่อสาร อาจทำให้หลายคนรู้สึกแต่แรกได้ยินว่าคงไม่ใช่หนทางสำหรับตนเอง เครื่องมือนี้คงเน้นให้คนสื่อสารพูดจากันอย่างสงบ ไม่แสดงอารมณ์โกรธ หรือเกลียดชังกัน พลอยทำให้พลาดโอกาสได้เข้าถึงความอัศจรรย์ไปอย่างน่าเสียดาย

ความอัศจรรย์ดังว่า มิได้อยู่ที่ตัวเครื่องมือวิธีการนี้ หากเป็นความอัศจรรย์ที่อยู่ในใจเรา จากการเข้าไปค้นพบ ยอมรับ และเข้าใจในความรู้สึก ความคาดหวัง คุณค่า และความต้องการของตัวเราเอง เสมือนได้สมบัติล้ำค่าที่เพิ่งพบว่ามันอยู่กับเราตลอดมา

การเรียนรู้เรื่องการสื่อสารตามแนวทางจิตตปัญญา หาได้ให้ความสำคัญแต่เฉพาะด้านพัฒนาทักษะ เราอาจคุ้นเคยว่า ฝึกการสื่อสารคือฝึกใช้ภาษา ฝึกการแสดงออก รู้จักและเลือกใช้ถ้อยคำ ทั้งหมดนี้แม้จะมาก หากยังไม่เพียงพอต่อการเข้าใจตนเอง หาไม่แล้วเราคงได้จำเพาะเทคนิควิธีการ แต่ไม่อาจผสมผสานกลมกลืนเข้าไปในชีวิต และไม่อาจเกิดประโยชน์ต่อการยกระดับจิตวิญญาณเราได้เลย

การเข้าใจในตนเองอย่างลึกซึ้งเป็นอีกด้านหนึ่งซึ่งสามารถเกิดขึ้นพร้อมกันไปกับทักษะ เป็นสองด้านที่เกื้อกูลกัน เปรียบเช่นศิลปินที่เข้าใจในสุนทรียะ ย่อมไปได้ไกลกว่าแค่คนเล่นดนตรีเป็น เปรียบเหมือนแม่ครัวผู้ชำนาญ ย่อมปรุงอาหารได้หลากหลายและถึงรสกว่าแค่คนทำไปตามสูตร

การสื่อสารอย่างสันติเผยให้เราได้รู้ว่า เบื้องหน้าที่เรารับรู้กันคือพฤติกรรมที่แสดงออกนั้น ลึกลงไปแล้วเต็มไปด้วยความรู้สึกที่แตกต่างหลากหลาย บางครั้งเราอาจตีความเข้าใจผู้อื่นคลาดเคลื่อนไปได้ เพราะเข้าใจผิดเพี้ยน ในการอบรมจึงมักใช้ตัวอย่างคำว่า "ไปไกลๆ เลย" ที่หญิงสาวมักกล่าวกับคนรัก และเราพบว่าเธออาจไม่ได้รู้สึกโกรธและต้องการให้เขาอยู่ห่างๆ เลย เธออาจเสียใจ และต้องการให้เขาอยู่คอยอยู่ใกล้ๆ มากขึ้นด้วยซ้ำ

ยิ่งกว่าการรับรู้ถึงความรู้สึกของคนอื่น นั่นคือการรู้ความรู้สึกของตัวเอง เราหลายคนคงยอมรับว่าในหลายโอกาส เราก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าเรารู้สึกอะไรกันแน่ มันซับซ้อน ละเอียดอ่อน และมีหลายอารมณ์อยู่เบื้องหลังของพฤติกรรมที่เราแสดง

เบื้องหน้าของความแตกต่างระหว่างกัน ลึกลงไปเรายังสามารถเข้าใจกันได้ เริ่มจากการเข้าใจตัวเราเองนั่นเอง ด้วยมนุษย์ทุกคนต่างมีความต้องการพื้นฐานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นความต้องการทางกายภาพ ความปลอดภัย ความรัก ความภาคภูมิใจ ฯลฯ ตัวเราเองย่อมมีความต้องการเหล่านี้เช่นเดียวกับทุกผู้คน

เมื่อรับรู้ถึงความรู้สึก ขอให้เราจงวางใจก่อนด่วนตัดสินกระทำการแก้ไขหรือทึกทักว่าเข้าใจความต้องการนั้นได้แล้ว แม้เบื้องหลังเป็นความต้องการเดียวกัน แต่พฤติกรรมเบื้องหน้าก็แตกต่างได้ เพราะเราแต่ละคนให้ความสำคัญแก่ค่านิยม กฎระเบียบ คุณค่าหลากหลาย สิ่งที่เราให้ความสำคัญนี้ส่งผลให้เราสร้างความคาดหวังต่างกันออกไป แล้วจึงก่อให้เป็นความรู้สึกและเผยพฤติกรรมออกมา

ราวกับภูเขาน้ำแข็งที่ไม่อาจประเมินเพียงส่วนซึ่งโผล่พ้นน้ำ ความเข้าใจในกันจะเริ่มต้นขึ้นได้หากเราใช้เครื่องมือหรือวิธีการที่เหมาะสมลงไปค้นหาความรู้สึก ความคาดหวัง กฎเกณฑ์คุณค่า และความต้องการ อันอยู่ลึกลงไปในตัวเราเอง

อาจแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือตอบสนองความต้องการนั้นไม่ได้ แต่เพียงเข้าใจและยอมรับได้ ก็จะเปิดสู่โอกาสการสร้างสรรค์นานาได้อีกมากมาย ทั้งกับคนรอบข้าง และโดยเฉพาะให้แก่ตัวเอง

แน่นอนว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายดาย และฉับพลันทันใจ เหมือนอุปกรณ์ทันสมัยอื่นในยุคนี้ เครื่องมือทางจิตตปัญญานั้นเรียกร้องเวลา ความมุ่งมั่น และการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องของเรา รวมทั้งเพื่อนและครูผู้ช่วยสนับสนุน เฉกเช่นเดียวกับศิลปะการบรรเลงดนตรี ศิลปะการปรุงอาหาร เครื่องมือนี้จึงมิใช่เพียงใช้พัฒนาทักษะการสื่อสาร แต่เป็นศิลปะแห่งการให้ความเข้าใจตนเอง เข้าใจกัน และใช้ชีวิตอย่างมีความหมายร่วมกัน

0 comments:

Post a Comment