Jun
26
2011

คอเดียวกัน



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน 2554

เมื่อแรกในการอบรมเรื่องการเรียนรู้แนวจิตตปัญญา พวกเราเหล่ากระบวนกรมักปรารถนาให้ผู้เข้าร่วมได้รู้จักและเห็นภาพทั้งหมดของกระบวนการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดโมเดลจิตตปัญญาพฤกษา เพราะเราเชื่อว่าด้วยความรู้ที่ผ่านการวิจัยศึกษามาอย่างต่อเนื่องในเวลาสองปีกว่า ทั้งการสังเคราะห์ความรู้จากงานสำรวจข้อมูลออกสู่โมเดลอธิบายกระบวนการ กระทั่งได้นำโมเดลไปประยุกต์ทดลองใช้ในชั้นเรียนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล น่าจะเกิดประโยชน์และช่วยให้เขานำไปใช้เองได้

ในช่วงหลังมานี้เราเริ่มปล่อยวางความปรารถนาที่มักจะล้นเกินจนเป็นความคาดหวังนี้ลง เราพบว่าไม่ใช่ทุกครั้งของการอบรมที่องค์ความรู้อันครบถ้วนและเข้มข้น จะสามารถเป็นคำตอบต่อวาระความสนใจและจะนำไปใช้ในชีวิตการงานของเขาได้

แทนที่จะให้เวลาอย่างมากกับเรื่องความรู้ ทักษะ และการประยุกต์ใช้ เราก็ปรับมาใช้เวลาเหมาะสมกับความสนใจอันหลากหลายของผู้เข้าร่วม แต่เน้นไปยังสิ่งที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเขาในระยะยาวภายหลังการอบรม นั่นคือการมีคนคอเดียวกันไว้สนทนา แบ่งปันเรื่องราวที่พบ บอกเล่าปัญหายากที่ตนต้องเผชิญ เป็นกลุ่มสนับสนุนกันที่อาจใช้เรียกหาในคำอื่นได้ อาทิ ชมรม ชุมชนนักปฏิบัติ หรือสังฆะ

หลังการอบรมจำนวนมากหลายครั้ง ผู้เข้าร่วมมีลักษณะไปในทำนองเดียวกัน นั่นคือในช่วงเรียนรู้ด้วยกันนั้น ต่างพบว่าทำให้ได้รู้จักเข้าใจตนเอง เข้าใจเพื่อน และเห็นความเป็นไปได้มาก ทั้งยังมีความมุ่งมั่นจะสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วย แต่แล้วหลังจากนี้ไม่กี่วันหรือสัปดาห์ ดูเหมือนทุกคนล้วนเห็นพ้องว่าทุกอย่างกลับไปสู่สภาพคล้ายเดิมก่อนหน้าการอบรม ความรู้และทักษะที่เคยได้กลับไม่ค่อยถูกนำมาใช้อีก บ้างจึงเห็นว่าการอบรมเป็นเพียงยารักษาระยะสั้น อาจให้ผลได้แก่บางคนที่มีความตั้งใจและสนใจอย่างจริงจังเท่านั้น

แต่ยังมีตัวอย่างอีกด้านหนึ่ง และเป็นความจริงที่เกิดขึ้นกับหลายองค์กร เขาเหล่านี้ยังมีความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงสืบเนื่องหลังการอบรม อาทิ เกิดกลุ่มพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการด้วยกระบวนการสุนทรียสนทนา หรือฝึกฝนการสะท้อนทบทวนตนเองด้วยการเขียนและศิลปะ กลุ่มคนคอเดียวกันเหล่านี้ทำให้เกิดความต่อเนื่อง ทักษะความรู้และเรื่องราวอันประทับใจก็ไม่เลือนหายไปหลังการอบรม

เหตุที่องค์กรเหล่านี้ทำได้ มิได้เป็นเพียงลำพังคำสั่งและความเอาจริงของผู้นำผู้บริหารเท่านั้น เพราะยังมีภารกิจอีกมากมายให้องค์กรต้องดำเนินการ ทำให้การสานต่อจากการอบรมมักมิใช่เรื่องสำคัญลำดับแรก ไม่ช้าไม่นานผู้บริหารก็จำต้องปล่อยผ่านให้ความสำคัญกับภารกิจงานหลัก จริงอยู่ที่การสนับสนุนจากผู้นำมีนั้นผลมาก แต่การสนับสนุนจากกลุ่มคนที่ตั้งใจและต่อเนื่องนี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงยิ่งกว่านัก

การเรียนรู้แนวจิตตปัญญาก็เป็นเช่นเดียวกับกิจกรรมอื่นในชีวิต แม้จะมีคนสั่งให้ทำก็อาจทำได้แค่ตอนเริ่มต้น แม้เราจะตั้งใจแต่เราก็อาจหมดไฟและล้มเลิกมันไปได้ การสนับสนุนที่สำคัญและเป็นกำลังที่ช่วยเพิ่มพูนให้แก่กันได้อย่างมาก คือการมีเพื่อน มีคนคอเดียวกัน ตั้งต้นจากคนที่สนใจการพัฒนาตนเองจากด้านในเหมือนกัน ยิ่งเป็นเพื่อนร่วมงานในองค์กรเดียวกัน ยิ่งเพิ่มโอกาสการได้พบปะ ได้แลกเปลี่ยน และได้กำลังใจในการฝึกฝน ได้ค้นพบความท้าทายในแบบฝึกหัดการปฏิบัติตัวด้วยทักษะความรู้ที่เคยได้เรียนรู้ร่วมกันมา

จิตตปัญญาอาจเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องเฉพาะตนเอง ใครทำใครได้ แต่ว่าไม่ใช่เรื่องที่ทำได้เองคนเดียวโดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใคร ยิ่งไม่ใช่เรื่องที่ไปสั่งการให้คนอื่นหันมาสนใจ หรือให้เอาไปปฏิบัติ เรื่องของจิตใจนี้เองต้องเกิดจากความสนใจและความตั้งใจอันเริ่มต้นจากตนเอง และเพิ่มพูนให้งอกเงย บ่มเพาะให้ต่อเนื่อง ด้วยความสนใจและความตั้งใจของเพื่อนผู้ร่วมเส้นทางเดียวกัน คนคอเดียวกันในการพัฒนาจิตใจจึงสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตัวทักษะความรู้เลย

ในหมู่กระบวนกรจิตตปัญญาศึกษา เราเห็นพ้องกันว่า ด้วยงานอบรมเพียงลำพังไม่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่องค์กรและชีวิตใครได้ หากไร้การประกอบรวมกันของผู้คนที่มุ่งมั่นสนใจหลังการอบรม อาจมาพูดคุยแบ่งปัน ทำสุนทรียสนทนา ฝึกสื่อสารด้วยหัวใจ หรือทำกิจกรรมฝึกใดๆ ด้วยกัน ในช่วงบ่ายช่วงเย็นก็ได้ แค่ให้ต่อเนื่อง เป็นประจำสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ก็เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่และมั่นคงมากแล้ว

สิ่งสำคัญในจิตตปัญญาอาจไม่ได้อยู่แค่เข้าใจ หรือมองเห็นเป้าหมาย แต่อยู่ที่เราได้ช่วยกันสร้างทางไว้ และให้เราร่วมทางฝึกฝนไปด้วยกัน
Jun
12
2011

สื่อสารด้วยใจ



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 12 มิถุนายน 2554

การสื่อสารอย่างสันติ (Nonviolent Communication) เป็นเครื่องมือ หรือการปฏิบัติอย่างหนึ่ง ในแนวทางการเรียนรู้แบบจิตปัญญาศึกษา ปัจจุบันเริ่มได้รับความสนใจและมีผู้ลงมือฝึกฝนอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนไม่น้อย เราอาจเคยผ่านหูผ่านตามาบ้างในช่วงเหตุการณ์วิกฤตความขัดแย้งของบ้านเมืองที่ปรากฏมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง จัดกิจกรรมอาสาเพื่อนรับฟัง เพื่อเปิดใจเข้าไปรับฟังความรู้สึกของทุกผู้คน โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบหรือได้รับความสูญเสียในเหตุการณ์

ลำพังเพียงชื่อของเครื่องมือ ซึ่งมีคำว่าสันติ ผนวกไปกับคำว่าสื่อสาร อาจทำให้หลายคนรู้สึกแต่แรกได้ยินว่าคงไม่ใช่หนทางสำหรับตนเอง เครื่องมือนี้คงเน้นให้คนสื่อสารพูดจากันอย่างสงบ ไม่แสดงอารมณ์โกรธ หรือเกลียดชังกัน พลอยทำให้พลาดโอกาสได้เข้าถึงความอัศจรรย์ไปอย่างน่าเสียดาย

ความอัศจรรย์ดังว่า มิได้อยู่ที่ตัวเครื่องมือวิธีการนี้ หากเป็นความอัศจรรย์ที่อยู่ในใจเรา จากการเข้าไปค้นพบ ยอมรับ และเข้าใจในความรู้สึก ความคาดหวัง คุณค่า และความต้องการของตัวเราเอง เสมือนได้สมบัติล้ำค่าที่เพิ่งพบว่ามันอยู่กับเราตลอดมา

การเรียนรู้เรื่องการสื่อสารตามแนวทางจิตตปัญญา หาได้ให้ความสำคัญแต่เฉพาะด้านพัฒนาทักษะ เราอาจคุ้นเคยว่า ฝึกการสื่อสารคือฝึกใช้ภาษา ฝึกการแสดงออก รู้จักและเลือกใช้ถ้อยคำ ทั้งหมดนี้แม้จะมาก หากยังไม่เพียงพอต่อการเข้าใจตนเอง หาไม่แล้วเราคงได้จำเพาะเทคนิควิธีการ แต่ไม่อาจผสมผสานกลมกลืนเข้าไปในชีวิต และไม่อาจเกิดประโยชน์ต่อการยกระดับจิตวิญญาณเราได้เลย

การเข้าใจในตนเองอย่างลึกซึ้งเป็นอีกด้านหนึ่งซึ่งสามารถเกิดขึ้นพร้อมกันไปกับทักษะ เป็นสองด้านที่เกื้อกูลกัน เปรียบเช่นศิลปินที่เข้าใจในสุนทรียะ ย่อมไปได้ไกลกว่าแค่คนเล่นดนตรีเป็น เปรียบเหมือนแม่ครัวผู้ชำนาญ ย่อมปรุงอาหารได้หลากหลายและถึงรสกว่าแค่คนทำไปตามสูตร

การสื่อสารอย่างสันติเผยให้เราได้รู้ว่า เบื้องหน้าที่เรารับรู้กันคือพฤติกรรมที่แสดงออกนั้น ลึกลงไปแล้วเต็มไปด้วยความรู้สึกที่แตกต่างหลากหลาย บางครั้งเราอาจตีความเข้าใจผู้อื่นคลาดเคลื่อนไปได้ เพราะเข้าใจผิดเพี้ยน ในการอบรมจึงมักใช้ตัวอย่างคำว่า "ไปไกลๆ เลย" ที่หญิงสาวมักกล่าวกับคนรัก และเราพบว่าเธออาจไม่ได้รู้สึกโกรธและต้องการให้เขาอยู่ห่างๆ เลย เธออาจเสียใจ และต้องการให้เขาอยู่คอยอยู่ใกล้ๆ มากขึ้นด้วยซ้ำ

ยิ่งกว่าการรับรู้ถึงความรู้สึกของคนอื่น นั่นคือการรู้ความรู้สึกของตัวเอง เราหลายคนคงยอมรับว่าในหลายโอกาส เราก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าเรารู้สึกอะไรกันแน่ มันซับซ้อน ละเอียดอ่อน และมีหลายอารมณ์อยู่เบื้องหลังของพฤติกรรมที่เราแสดง

เบื้องหน้าของความแตกต่างระหว่างกัน ลึกลงไปเรายังสามารถเข้าใจกันได้ เริ่มจากการเข้าใจตัวเราเองนั่นเอง ด้วยมนุษย์ทุกคนต่างมีความต้องการพื้นฐานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นความต้องการทางกายภาพ ความปลอดภัย ความรัก ความภาคภูมิใจ ฯลฯ ตัวเราเองย่อมมีความต้องการเหล่านี้เช่นเดียวกับทุกผู้คน

เมื่อรับรู้ถึงความรู้สึก ขอให้เราจงวางใจก่อนด่วนตัดสินกระทำการแก้ไขหรือทึกทักว่าเข้าใจความต้องการนั้นได้แล้ว แม้เบื้องหลังเป็นความต้องการเดียวกัน แต่พฤติกรรมเบื้องหน้าก็แตกต่างได้ เพราะเราแต่ละคนให้ความสำคัญแก่ค่านิยม กฎระเบียบ คุณค่าหลากหลาย สิ่งที่เราให้ความสำคัญนี้ส่งผลให้เราสร้างความคาดหวังต่างกันออกไป แล้วจึงก่อให้เป็นความรู้สึกและเผยพฤติกรรมออกมา

ราวกับภูเขาน้ำแข็งที่ไม่อาจประเมินเพียงส่วนซึ่งโผล่พ้นน้ำ ความเข้าใจในกันจะเริ่มต้นขึ้นได้หากเราใช้เครื่องมือหรือวิธีการที่เหมาะสมลงไปค้นหาความรู้สึก ความคาดหวัง กฎเกณฑ์คุณค่า และความต้องการ อันอยู่ลึกลงไปในตัวเราเอง

อาจแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือตอบสนองความต้องการนั้นไม่ได้ แต่เพียงเข้าใจและยอมรับได้ ก็จะเปิดสู่โอกาสการสร้างสรรค์นานาได้อีกมากมาย ทั้งกับคนรอบข้าง และโดยเฉพาะให้แก่ตัวเอง

แน่นอนว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายดาย และฉับพลันทันใจ เหมือนอุปกรณ์ทันสมัยอื่นในยุคนี้ เครื่องมือทางจิตตปัญญานั้นเรียกร้องเวลา ความมุ่งมั่น และการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องของเรา รวมทั้งเพื่อนและครูผู้ช่วยสนับสนุน เฉกเช่นเดียวกับศิลปะการบรรเลงดนตรี ศิลปะการปรุงอาหาร เครื่องมือนี้จึงมิใช่เพียงใช้พัฒนาทักษะการสื่อสาร แต่เป็นศิลปะแห่งการให้ความเข้าใจตนเอง เข้าใจกัน และใช้ชีวิตอย่างมีความหมายร่วมกัน