คนหลงทาง



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 23 มกราคม 2554

สารคดีสองเรื่องที่ผมได้ชมไปเมื่อช่วงสิ้นปีได้สร้างคำถามให้เกิดขึ้นในใจผมมากมาย

ทั้งสองเรื่องพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงปัจจุบันในวงการเกษตรและปศุสัตว์ แม้ว่าจะมีท่วงทำนองรูปแบบการนำเสนอที่ต่างกัน เรื่อง Our Daily Bread เน้นถ่ายทอดภาพเหตุการณ์ในไร่ในโรงเลี้ยงและชีวิตผู้คนอย่างตรงไปตรงมา ส่วนเรื่อง Food, Inc. ให้ข้อมูลสถิติรวมทั้งสัมภาษณ์เกษตรกรที่ตกอยู่ในวงจรธุรกิจซึ่งครอบงำโดยบรรษัทขนาดใหญ่ แต่ทั้งสองเรื่องพูดถึงสิ่งเดียวกันคือแหล่งที่มาวัตถุดิบอาหารของโลกยุคนี้มิได้เป็นไปตามความเข้าใจความเชื่อเดิมๆ ของเราอีกแล้ว เราจะได้เห็นการเกษตรที่มีความเป็นอุตสาหกรรม ใช้สารเคมีและเครื่องจักรจำนวนมาก เราจะได้เห็นโรงเลี้ยงไก่และโรงฆ่าสัตว์ขนาดใหญ่

ที่ว่ามานี้เราอาจจะคิดว่ายังเป็นเรื่องไกลตัว เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเยอรมนีและประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เราย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่แหละคือกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังเข้ามาสู่บ้านเรามากขึ้นเรื่อยๆ คำถามที่เกิดขึ้นจากสารคดีทั้งสองนี้เป็นไปได้มากมาย ตั้งแต่ความเหมาะสมของเทคโนโลยีที่ใช้ เรื่องความเป็นธรรมทางการค้า การเลี้ยงและฆ่าสัตว์อย่างไรที่ไม่เป็นการทารุณกรรม ไปจนถึงความปลอดภัยในอาหาร

แต่คำถามที่สะกิดใจผมมากที่สุดคือ เราพากันเดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

จุดที่โลกต้องเร่งผลิตวัตถุดิบสำหรับเป็นอาหารออกมาให้มากที่สุดโดยใช้เวลาที่น้อยที่สุด เราเคยเฉลียวใจไหมว่าเราต้องสูญเสียอะไรไปบ้างเพื่อแลกความรวดเร็วนี้

ภาพชีวิตผู้คนในหนังสองเรื่องนี้ก็สะท้อนต่อคำถามนี้ได้มาก ไม่ว่าจะเป็นภาพคนงานที่พักกินอาหารกลางวันในโรงงานฆ่าสัตว์ ภาพคนงานทำงานคัดแยกลูกไก่ตามสายพาน รวมถึงภาพการเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยเครื่องจักรขนาดใหญ่ ภาพทั้งหมดนี้ดูห่างไกลจากชีวิตจริงของเราเหลือเกิน ราวกับว่าเป็นอีกขั้นตอนของกระบวนการผลิตอาหาร โดยมีเราอยู่ที่ปลายทางในฐานะผู้บริโภค

เหมือนมีแค่สายใยเกี่ยวข้องจางๆ ระหว่างผู้ผลิต อาหาร และผู้บริโภค

ในเรื่อง Food, Inc. มีเจ้าของไร่คนหนึ่งซึ่งปฏิเสธการเข้าไปอยู่ในระบบการผลิตสมัยใหม่ เขาเลี้ยงสัตว์ตามทุ่งหญ้า สัมผัสตัวและพูดทักทายมัน ปลูกพืชโดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลง แต่สิ่งที่น่าสนใจมากยิ่งกว่าวิธีเพาะปลูกและดูแลสัตว์ คือการที่ลูกค้าเดินทางมายังไร่เพื่อซื้อสินค้าด้วยตัวเอง ไม่ใช่เพราะจัดส่งไม่ได้ แต่เพราะเขาต้องการรู้จักและสร้างความสัมพันธ์โดยตรงกับลูกค้าของเขาทุกคน

หรือว่าความรู้สึกสัมพันธ์เชื่อมโยงถึงกันทั้งหมดที่เขามีนี้แหละ คือสิ่งที่เราสูญเสียไปในระบบการผลิตอาหารของโลก

เราอาจจะเคยได้ยินหรือเคยฝึกแนวทางปฏิบัติหนึ่งซึ่งว่าด้วยการบริโภคอย่างมีสติ โดยเฉพาะนิกายเซน ในสายหมู่บ้านพลัม ที่เน้นการมีสติในการรับประทานอาหาร เคี้ยวแต่ละคำอย่างช้าๆ ขอบคุณแรงกายและความทุ่มเทของทุกผู้คนที่ได้เพาะปลูกมา ขอบคุณสรรพชีวิตที่ได้อุทิศเป็นอาหารมาให้เราได้ดื่มกิน การปฏิบัตินี้มีขึ้นก็เพื่อให้เราได้ระลึกถึงสิ่งที่สูญหายไป ให้เราได้ตระหนักว่าเราไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเดียวดาย แต่ด้วยการพึ่งพาอาศัยอย่างให้เกียรติกันนี้เอง

เทคโนโลยีสามารถช่วยให้เราผลิตอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ใช่ว่าจะต้องเร่งให้รีบจนบดบังสายตาและการรับรู้ของเราออกจากสายใยความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตที่เกื้อกูลกันอยู่นี้ออกไป

ระบบการค้าและการตลาดช่วยให้เราได้จับจ่ายซื้ออาหารที่สะดวกรวดเร็วกว่าการปลูกและเลี้ยงเอง แต่ใช่ว่าจะต้องเร็วจนเราพลาดการได้ดูแลความเป็นอยู่ของผู้คนซึ่งทำงานเบื้องหลังได้

ประสิทธิภาพในการผลิตอาจจะเป็นการใช้เวลาทำงานน้อยที่สุดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์จำนวนมากที่สุด แต่สำหรับประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตของเรา อาจจะหมายถึงการใช้เวลาในชีวิตให้มากที่สุดเพื่อให้ได้เห็นความจริงว่าเราเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับทุกคนและทุกชีวิตอย่างไร ก็เป็นไปได้

1 comments:

อาร์ต said...

เมื่อก่อน หากจะกินไก่ ที่บ้านจะต้องลงมือฆ่าไก่ (ตัวที่วิ่งเล่นอยู่ลานบ้าน เมื่อตอนกลางวัน) ถอนขน แหวกอก ควักเครื่องใน ฯลฯ

ทำให้เห็นขั้นตอนที่แปรเปลี่ยนจาก "ชีวิต" มาสู่ "อาหาร" ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของเรา

เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มองเห็น "คุณค่า" ของชีวิต ที่ต้องเสียไป


ทุกวันนี้ เราซื้อเนื้อหมู เนื้อไก่ โดยห่างไกลจากขั้นตอนของ "ชีวิต" มาสู่ "วัตถุดิบ" สำหรับผลิตอาหาร

ทำให้เราลืมอะไรไปสักอย่าง

และคุ้นเคย-ชินชา กับการมองชิ้นเนื้อเหล่านั้น โดยไม่ได้รู้สึกถึง "ชีวิต" อีกต่อไป





ขอบใจหลายๆ สำหรับบทความดีๆ ที่ทำให้ได้คิดถึงบางอย่างขึ้นมาได้ ;-)

Post a Comment