
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม 2554
กิจกรรมการเช็คอิน มีกระบวนการทั้งเรียบง่าย และใช้เวลาเพียงสั้นๆ ก่อนเริ่มการประชุม ให้แต่ละคนได้บอกเล่าสภาวะความเป็นไป จะสุขภาพร่างกาย ใจ หรือแบ่งปันเรื่องราวเหตุการณ์ที่ได้พบมา ส่วนผู้ฟังก็เปิดใจให้พร้อมรับกับการประชุมต่อไป
ในการประชุมครั้งหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เราเริ่มกิจกรรมเช็คอินดังที่ทำมาเป็นประจำ มีเพื่อนอาจารย์คนหนึ่งมีเรื่องคาใจ จึงขอแบ่งปันเหตุการณ์สดๆ ร้อนๆ เมื่อเช้า
เธอเล่าว่าวันนี้ ตอนทำกิจธุระส่วนตัวในห้องน้ำของมหาวิทยาลัย มีคนกดก๊อกน้ำที่อ่างเพื่อล้างมือ แต่พอคนนั้นเดินออกไป น้ำไม่ยอมหยุดไหล เธอเห็นว่าก๊อกน้ำคงจะค้างแน่ จึงดึงมันขึ้นมาเพื่อให้น้ำหยุด
หลังจากนั้นเธอก็เริ่มแปรงฟัน และเห็นนักศึกษาสาวคนหนึ่งกำลังหวีผมแต่งหน้าอยู่ถัดไปทางขวามือ ระหว่างนี้ก็มีคนออกมาจากห้องสุขาแล้วเดินมากดก๊อกน้ำตัวเดิมอีกซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างเธอกับนักศึกษา รายที่สองนี้ก็เดินจากไปโดยไม่รู้ว่าก๊อกมันค้าง และน้ำก็ไหลไม่หยุด เธอหันไปชำเลืองมองนักศึกษาหญิงคนนั้น เมื่อไม่เห็นว่าจะมีทีท่าเอื้อมมือมาดึงก๊อกปิดน้ำ เธอก็หยุดแปรงฟันแล้วหันไปดึงก๊อกเป็นครั้งที่สอง
จุดสำคัญของเรื่องอยู่ที่เธอเข้าไปทำธุระในห้องสุขา และได้ยินเสียงกดก๊อกน้ำแล้วน้ำก็ไหลไม่หยุด กระทั่งเธอเสร็จธุระออกมาก็พบว่าถัดจากก๊อกเจ้าปัญหานี้ นักศึกษาหญิงคนเดิมยังยืนส่องกระจกหวีผมแต่งหน้า ไม่มีทีท่าใดๆ ต่อน้ำที่ไหลทิ้ง
ท้ายที่สุด เธอจึงปิดก๊อกนั้นเองเป็นครั้งที่สาม หันไปมองนักศึกษา พร้อมกับเกิดสารพัดความรู้สึกขึ้นมาในใจ เล่าถึงตรงนี้ เธอยอมรับว่าเห็นอารมณ์ความรู้สึกมากมายของตน ทั้งไม่พอใจ ผิดหวัง ขัดใจ ว่าทำไมนะ ก๊อกก็อยู่แค่ตรงนี้ใกล้ๆ จะช่วยกันดูแลประหยัดน้ำให้ไม่ได้เชียวหรือ
การเช็คอินครั้งนี้บอกอะไรหลายอย่าง เราไม่เร่งด่วนตัดสิน หาไม่แล้วอาจมีคุยกันต่อยืดยาว ซักกันว่าทำไมไม่อบรมต่อว่านักศึกษา หรือไม่ก็พร่ำบ่นว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไปทำให้จิตสำนึกคนเปลี่ยนแปลง แต่เพราะว่าหัวใจสำคัญของกิจกรรมคือการได้ฟังเพื่อนบอกเล่า เพื่อให้เขาได้ผ่อนคลายและพร้อมสำหรับการประชุม ไม่ใช่เปิดบทสนทนาใหม่ด้วยการไปวิพากษ์วิจารณ์กัน
สิ่งสำคัญอีกอย่าง นั่นคือความสามารถที่จะสังเกตเห็นและเท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เชื่อมั่นว่าตนเองเป็นฝ่ายถูก เพื่อนอาจารย์คนนี้เธออาจโกรธและต่อว่านักศึกษา จนบานปลายกลายเป็นการทะเลาะในห้องน้ำก็ได้ แต่สิ่งที่เธอเลือกทำ คือพยายามเท่าทันความหวั่นไหวที่เกิดขึ้นในใจตัวเองก่อน แล้ววางใจ วางเอาไว้ไม่ถือไม่แบกให้ขุ่นข้องไปจนตลอดวัน
วางใจที่ว่านี้ยังไม่ใช่แค่อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นข้างใน แต่ยังวางใจ ไม่ด่วนปล่อยใจไปลงมือกระทำสิ่งง่ายๆ ด้วยการตัดสินนักศึกษาว่าเป็นคนอย่างไร น่าตำหนิติเตียนแค่ไหน เพราะเธอไม่สามารถรู้และเข้าใจได้ทั้งหมดว่านักศึกษาได้พบเจอเหตุอะไรมาบ้างก่อนหน้านั้น หรือสภาวะในใจเขาเป็นอย่างไร พร้อมกันกับที่วางใจ เธอก็ไม่นิ่งเฉยดูดาย อะไรที่เป็นเรื่องไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะทำได้ก็ลงมือทำ
เพื่อนอาจารย์บอกเราผ่านการเช็คอินของเธอว่า การวางใจคือการละวางไม่ถือเอาเรื่องราวไว้ให้ทุกข์ใจ วางใจว่าไม่สามารถเข้าใจคนอื่นได้ทั้งหมด ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่วางเฉยดูดาย เห็นว่าธุระหน้าที่ไม่ใช่ เรากระทำสิ่งที่ดีที่สมควรได้ โดยไม่จำเป็นต้องปล่อยใจให้ขุ่นมัว